Custom Search

17 มิถุนายน 2554

ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

จัดพิมพ์เป็นชุดโดยไม่ตัดเป็นรายฉบับ จำนวน ๓ ชนิดราคา ได้แก่ ๑ บาท ๕ บาท และ ๑๐ บาท เมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่างจะเห็นลายน้ำรูปรัฐธรรมนูญประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้าอยู่ภายในวงกลมสีเหลืองอ่อน และแถบสีโลหะ (เทา) ในเนื้อกระดาษ ภายในมีคำว่า "๘๐ พรรษา" ขนาดเล็กเรียงเป็นระยะ เมื่อสังเกตภายใต้รังสีเหนือม่วงจะเห็นหมวดอักษร และเลขหมายซึ่งพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษสีแดง เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเรืองแสง ลายมือชื่อของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษสีดำ เปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลืองเรืองแสง บริเวณลายน้ำจะปรากฏตัวเลขไทย "๘๐" เป็นสีเหลืองเรืองแสง และแถบสีโลหะ (เทา) ในเนื้อกระดาษเป็นสีเหลืองเรืองแสง

ธนบัตรทุกฉบับมีเลข ๙ นำหน้าหมวดอักษรไทย ธ หมายถึง พระมหากษัตริย์ ตามด้วยเลขหมายจำนวน ๗ หลัก เริ่มตั้งแต่ ๙ ธ (K) ๐๐๐๐๐๑-๙ ธ (K) และ ๙ ธ (R) ๕๐๐๐๐๐

ธนบัตรด้านหน้า ประกอบด้วย
พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นภาพประธาน มีภาพพระครุฑพ่าห์อยู่ด้านบนตอนกลางและภาพช้างไอราพตสามเศียรอยู่ด้านล่างมุมขวาของธนบัตรทุกชนิดราคา โดยมีภาพการเสด็จออกสีหบัญชร ณ พระที่นั่งสุท"พสวรรย์ปราสาท เนื่องในพระราชพิธีพบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๙๓ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ในพระราชพิธีมหามงคลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบพระนักษัตร พุทธศักราช ๒๕๐๖ และการเสด็จออกมหาสมาคม ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นภาพประกอบในธนบัตรแต่ละชนิดราคาตามลำดับ

ธนบัตรด้านหลัง ประกอบด้วย
ด้านหลังธนบัตรชนิดราคา ๑ บาท พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์เมื่อทรงพระเยาว์ พระบรมฉายาสาทิศลักษณ์เมื่อครั้งเสด็จนิวัตประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๘ และขณะทรงศึกษา ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภาพตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ภาพพระครุฑพ่าห์ ภาพวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และบรมมหาราชวัง และภาพพระตำหนักวิลล่าวัฒนา

ด้านหลังธนบัตรชนิดราคา ๕ บาท พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ที่เนื่องในการราชาภิเษกสมรส และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การทรงพระผนวช พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์หมู่ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี พระราชพิธีสถาปนา เฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร ภาพพระราชกรณียกิจ ภาพเครื่องบินทำฝนหลวง พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ขณะทรงดนตรีและทรงงานจิตรกรรม

ด้านหลังธนบัตรชนิดราคา ๑๐ บาท พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในพระราชพิธีสถาปนา เฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทรทราบรมราชชนี ภาพพระราชกรณียกิจ ภาพโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาพกังหังน้ำชัยพัฒนาแ ละพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี




ขนาดธนบัตร ๑ ชุด กว้าง ๒๒๙ มิลลิเมตร ยาว ๑๔๗ มิลลิเมตร
จำนวนพิมพ์ ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ ชุด
กำหนดออกใช้ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
ออกแบบและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย

25 มกราคม 2554

บรรจุภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยโบราณในสไตร์ "ห่อ มัด ร้อย" ตอนที่ 2

7. ข้าวต้มลูกโยน...ห่อมัดเป็นพวง
ข้าวต้มลูกโยนทำจากข้าวเหนียวผัดกับน้ำกระทิ ผสมน้ำตาลทรายและเกลือ แล้วนำมาห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อน ใบลำเจียก หรือใบเตยรูปทรงสี่เหลี่ยม มียอดแหลมจากนั้นใช้ตอกมัดให้แน่น โดยเว้นช่วงปลายใบให้ยาวเพื่อความสะดวกในการถือจับ โดยไม่ต้องพึ่งพาถุงพลาสติก

8.มัด...อ้อยควั่น
คนโบราณช่างคิดหลังหลังจากปอกอ้อยและควั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้สะดวกต่อการรับประทาน จึงนำอ้อยไปเสียบกับเส้นตอกทีละเส้น จากนั้นนำเส้นตอกที่มีอ้อยควั่นเสียบอยู่มาจัดเรียงมัดรวมกันเป็นพุ่ม ได้รูปทรงสวยงามราวกับช่อดอกไม้

9.ปลาแห้ง...ร้อยไม้ใผ่

ปลาแห้งเสียบไม้เป็นวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง โดยการนำไม้ใผ่ที่แก่จัดมาผ่าเป็นซีกให้มีขนาดใหญ่กว่าไม้เสียบลูกชิ้น เสี้ยมปลายด้านหนึ่งให้แหลมแล้วนำมาเสียบเข้ากับเหงือกปลา เมือกจากตัวปลาจะช่วยทำให้ตัวปลาเรียงติดกันเป็นตับ ก่อนนำไปตากแห้งหรือย่างไฟ เพื่อเก็บไว้ประกอบอาหาร

10.ดอกแค...ร้อยเส้นตอก

คนสมัยก่อนช่างคิดประดิดประดอย ดอกแคที่เก็บมาแล้วหากวางซ้อนทันกันอาจทำให้กลีบดอกช้ำดูไม่สวยงามไม่น่ารับประทาน จึงคิดวิธีนำดอกแคมาร้อยด้วยเส้นตอกให้มีลักษณะเป็นพวงกลม ซึ่งนอกจากจะทำให้กลีบดอกมไม่ช้ำแล้ว ยังแลดูสวยงามและถือได้สะดวกยิ่งขึ้น

11.ร้อย...ผลหมาก

ชาวไทยเหนือหรืออีสาน นิยมนำผลหมากมาผ่าซีก แล้วเสียบร้อยด้วยปอหรือด้ายผูกเป็นพวง เพื่อสะดวกในการจัดเก็บ ก่อนจะนำไปตากแห้ง ในแต่ละพวงจะมีหมากนับร้อยชิ้น ทีนอกจากจะนำมารับประทานแล้ว ทางภาคเหนือยังนำหมากร้อยมาเป็นส่วนสำคัญในพิธีกรรมหลายอย่างอีกด้วย

12.ตะกร้าร้อยสาน...ใบมะพร้าว

ตะกร้าร้อยสานใบมะพร้าว บรรจุภัณฑ์ธรรมชาติที่เกิดจากฝีมืออันประณีตบรรจง ด้วยการนำใบมะพร้าวมาร้อยสานเรียงทีละขั้น จนได้ขนาดที่ต้องการ จากนั้นรวบชายมัดเป็นปม ใช้เป็นตะกร้าใส่ผลไม้ เป็นของขวัญ ของฝาก ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ขอขอบคุณ "ไทยประกันชีวิต" และกลุ่มบริษัทในเครือที่ได้รวบรวมข้อมูลดีๆ ดังกล่าว

บรรจุภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยโบราณในสไตร์ "ห่อ มัด ร้อย" ตอนที่ 1

1.ห่อ...ขนมใส่ใส้
ใบตองหรือใบกล้วย สามารถนำมาห่ออาหารได้หลากหลาย ขนมใส่ใส้...ขนมหวานที่ต้องห่ออย่างพิถีพิถันด้วยใบตองสด 2 ชั้น ประกบกันเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงสูง คาดด้วยใบมะพร้าวและกลัดด้วยไม้กลัดก่อนนำไปนึ่งสุกกลิ่นหอมของใบตองช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับขนมไทย จนใครๆ ก็อยากลิ้มลอง

2.ใบตอง...ห่อจำปี

นอกจากสมัยก่อนคนไทยจะนำใบตองมาห่ออาหารคาวหวานแล้ว ยังนิยมนำดอกจำปีและดอกจำปามาจัดเรียงบนใบตองสดแล้วกลัดด้วยไม้กลัด เป็นบรรจุภัณฑ์รูปลักษณ์แบบไทยๆ ที่ช่วยรักษาความหอมของดอกจำปีจำปาให้ยาวนาน

3.กาบกล้วย...ห่อใบขี้เหล็ก
วิธีเก็บรักษาผักให้สดและไม่บอบช้ำของคนสมัยก่อน คือการนำกาบกล้วยสดๆ ขนาดพอประมาณมาห่อหุ้มส่วนที่เป็นลำต้นของผักที่ได้จัดเรียงไว้ น้ำในกาบกล้วยจะช่วยให้ผักชุ่มชื้น ทั้งยังสวยงามและสะดวกในการจับถือ

4.ข้าว...ห่อใบตอง
คนไทยสมัยก่อนมักพกข้าวไปทานยามทำไร่ ทำนา วิธีทำข้าวห่อแบบไทยๆ ทำโดยการเอาข้าวพร้อมกับข้าวใส่ในใบบัวแล้วห่อเป็นรูปสี่เหลี่ยม มัดด้วยตอกก่อนนำไปนึ่ง กลิ่นหอมของใบบัว ช่วยทำให้ข้าวหอมกรุ่น ชวนรับประทานมากขึ้น

5.ขนมตาล..ห่อใบตาล

บรรจุภัณฑ์ของขนมตาลแบบดั้งเดิมทำจากใบตาลอ่อน นำมาสานเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้วยรูปทรงขนาดพอเหมาะการห่อที่ดูเก๋ไก๋ช่วยเติมเสน่ห์ให้กับขนมตาลได้อย่างลงตัว

6.ข้าวต้มมัด...มัดเป็นคู่

การห่อข้าวต้มมัดนิมใช้ใบตองขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า จากนั้นค่อยๆ บรรจงห่อให้แน่นอย่างสวยงาม ก่อนจะประกบกันเข้าเป็นคู่แล้วมัดด้วยเส้นตอกอีกครั้ง

ขอขอบคุณ "ไทยประกันชีวิต" และกลุ่มบริษัทในเครือที่ได้รวบรวมข้อมูลดีๆ ดังกล่าว

บรรจุภัณฑ์ไทยในสไตร์ "ห่อ มัด ร้อย"

บรรจุภัณฑ์อาหารคาวหวาน ขนมหวาน ผัก ผลไม้ หรือแม้แต่ดอกไม้ ในรูปแบบของ "ห่อ มัด ร้อย" ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาไทยที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนไทย (Thai Ways) และวัฒนธรรมของไทยได้อย่างมีคุณค่า บรรจุภัณฑ์ไทยในสไตร์ "ห่อ มัด ร้อย" นอกจากจะถ่ายทอดฝีไม้ลายมือที่ประณีตวิจิตรบรรจงความคิดสร้างสรรค์ที่วิจิตรหลากหลายของบรรพบุรุษไทยแล้ว การนำวัสดุธรรมชาติมาประดิษฐ์ เพื่อประโยชน์ใช้สอยยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับโลกใบนี้ ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ไทย "ห่อ มัด ร้อย" เกือบเลือนหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทยแล้ว

ต้องขอขอบคุณ "ไทยประกันชีวิต" ที่เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ และสนับสนุนการใช้วัสดุจากธรรมชาติเพื่อร่วมชลอสภาวะโลกร้อน และได้นำเรื่องที่เป็นคุณค่าแก่การศึกษาพิมพ์ในปฏิทิน 2011 ให้เราได้รับทราบกัน


19 มกราคม 2554

พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ กรุงเทพมหานคร (เดือนธันวาคม)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นจอมทัพไทย ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี (5 ธันวาคม) จะมีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) ทหารที่สวนสนามแต่งเครื่องแบบตามเหล่าทัพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และทรงตรวจพลสวนสนามเป็นพิธีเฉลิมพระเกียรติที่สง่างามยิ่ง

18 มกราคม 2554

ประเพณีเลยกระทง จังหวัดสุโขทัย (เดือนพฤศจิกายน)

"ประเพณีลอยกระทง" เป็นงานนักขัตฤกษ์สำคัญ ที่จัดขึ้นในคืนเพ็ญเดือนสิบสอง หรือประมาณเดือนพฤศจิกายนอันเป็นฤดูที่น้ำในแม่น้ำลำคลองเปี่ยมฝั่ง จึงมีการนำกระทงที่ประดับตกแต่งเป็นพิเศษไปลอยในแม่น้ำ ในกระทงมีธูปเทียนจุดไว้ เมื่อปล่อยให้ลอยไปจะมีแสงระยิบระยับงดงาม สันนิษฐานว่าประเพณีนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย งานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจัดเป็นประจำทุกปี

ประเพณีการแข่งเรือยาว จังหวัดน่าน (เดือนตุลาคม)

แม่น้ำลำคลองนอกจากจะใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ใช้ในการเพาะปลูก และอุปโภคแล้ว ในฤดูน้ำหลาก ชีวิตของผู้คนริมน้ำยังสนุกสนานกับการแข่งเรือเพื่อการออกกำลังและเพื่อความสามัคคี ประเพณีการแข่งเรือยาวที่มีฝีพายจำนวนมากเป็นประเพณีของหลายจังหวัดที่มีแม่น้ำไหลผ่านดังเช่น จังหวัดน่าน

วิถีชีวิตของชาวไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (เดือนกันยายน)

ชาวไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากนับถือศาสนาอิสลาม มีวิถีชีวิต การแต่งกาย การละเล่น และงานอดิเรกแตกต่างไปจากภาคอื่น เช่น การต่อเรือและระบายสีเรือกอ เลี้ยงนกเขา สนุกกับลิเกฮูลู ปฏิบัติศาสนกิจร่วมกันที่มัสยิด มัสยิดที่โดดเด่นสวยงามของภาคใต้ ได้แก่ มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี

17 มกราคม 2554

ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ภาคเหนือ (เดือนสิงหาคม)

ภูมิประเทศทางภาคเหนือเป็นภูเขายาวต่อเนื่องสลับซับซ้อน มีชาวเขาเผ่าต่างๆ  หลายเผ่าอาศัยอยู่ การโล้ชิงช้าเป็นประเพณีของชาวไทยภูเขาเผ่าอีก้อหรืออาข่า ปัจจุบันชาวไทยภูเขารวมกันอยู่เป็นหมู่บ้าน เพาะปลูกพืชผักเมืองหนาวและทำหัตถกรรมชาวเขาสวยงาม เช่น ทอผ้า ปักผ้า และทำเครื่องเงิน

แห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี (เดือนกรกฎาคม)

"แห่เทียนพรรษา" เป็นประเพณีหนึ่งใน "ฮีตสิบสอง" ของภาคอีสาน จัดขึ้นในวันก่อนหรือวันเข้าพรรษา มีการหล่อเทียนสลักเสลาอย่างวิจิตรพิสดาร  แล้วแห่เป็นขบวน ไปถวายพระสงฆ์ ณ วัดต่างๆ  เพื่อใช้จุดเป็นพุทธบูชา และเพื่อศึกษาพระธรรมตลอดเทศกาลเข้าพรรษา ประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่เอิกเกริกที่สุดจัดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน

ประเพณีผีตาโขน จังหวัดเลย (เดือนมิถุนายน)

"ประเพณีผีตาโขน" เป็นการละเล่นในงานบุญผะเหวด ณ พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เล่ากันว่าบรรดาผีป่าพากันมาส่งเสด็จพระเวสสันดรและพระนางมัทรีออกจากป่าเข้าเมือง การแต่งกายของผีตาโขนดูน่ากลัวและขบขัน สามหัวและหน้ากากระบายสีนุ่งเศษผ้ากะรุ่งกะริ่ง ถือดาบไม้ล่อหลอกกันอย่างสนุกสนาน

16 มกราคม 2554

การทำนา (เดือนพฤษภาคม)

"ภาคกลาง" ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ราบลุ่ม และมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป้นแม่น้ำสายใหญ่ให้น้ำท่า ผู้คนจึงทำมาหาเลี้ยงชีพทางการเกษตร การทำนาแต่ก่อนอาศัยแรงควาย เครื่องมือ เครื่องใช้ก็ทำเองจากวัสดุธรรมชาติ คนภาคกลางมีพุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิดตใจดำรงชีวิตแบบพออยู่พอกิน

สงกรานต์เชียงใหม่ (เดือนเมษายน)

"วันขึ้นปีใหม่" ของไทยแต่ครั้งโบราณนับเดือนปีทางจันทรคติตรงกับกลางเดือนเมษายน สงกรานต์เชียงใหม่หรือ "ปี๋ใหม่เมือง" เป็นประเพณีที่ชาวเชียงใหม่พร้อมใจกันถือปฏิบัติสืบทอดมายาวนาน ดึงดูดใจคนภาคอื่นและชาวต่างประเทศให้ไปร่วมงานด้วยความชื่นชมและประทับใจ

ท้องทะเลภาคใต้ (เดือนมีนาคม)

ท้องทะเลภาคใต้อุดมสมบูรณ์ด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา สาหร่าย ปะการัง และสัตว์น้ำหลากหลายชนิด ชาวทะเลหาเลี้ยงชีพด้วยการประมงดำรงชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของท้องทะเล ว่ายน้ำ ดำน้ำ ได้ตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันการดำน้ำกำลังเป็นกีฬาของผู้ที่มิใช่ชาวทะเล หากแต่เป็นผู้ที่ไปชื่นชมชีวิตใต้ทะเล

15 มกราคม 2554

กระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค แม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร (เดือนกุมภาพันธ์)

"พระมหากษัตริย์ไทย" ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรราม กรุงเทพมหานคร โดยกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคนั้นยิ่งใหญ่ เรือพระราชพิธีแต่ละลำล้วนวิจิตรบรรจบฝีพายสวยงานพร้อมเพรียง และเสียง "เพลงเห่เรือ" ก้องกังวานไปตามลำน้ำเจ้าพระยา

เทศกาลร่มบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ (เดือนมกราคม)

"เชียงใหม่" ดินแดนแห่งความงามตามธรรมชาติ วัฒนธรรม และศิลปหัตถกรรม ในบางหมู่บ้าน เช่น บ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมทำร่มด้วยกระดาษสา ทุกปีจะมีงานเทศกาล "ร่มบ่อสร้าง" ถนนทั้งสายในหมู่บ้านจะตกแต่งด้วยร่มสีสันสดใสเรียงรายตระการตา

ทักทายบอกกล่าว "วิถีความเป็นคนไทย"


"ประเพณีและวิถีชีวิตของคนไทย" ในแต่ละท้องถิ่น แต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันไปตามคติความเชื่อ แนวคิด การปฏิบัติ และการอบรมสั่งสอนที่บรรพบุรุษได้เรียนรู้ สร้างสรรค์ สะสม แล้วถ่ายทอดต่อๆ  กันมาแล้วรุ่นเล่า มีการผดุงปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไปบ้างให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ประเพณี และวิถีชีวิตของคนไทยในถิ่นต่างๆ  ล้วนมีเหตุผล ที่มาที่เป็น  ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาความเจริญ ความดีงาม และความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน
"การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)" ในฐานะขององค์กรที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในนิติของความมีจิตสำนึกทางสังคม จึงขอมอบภาพเขียนสีน้ำประเพณีและวิถีชีวิตไทยในภูมิภาพต่างๆ  โดยคุณธรรมวิทย์  สุวรรณพฤกษ์ ศิลปินที่แม้จะมีข้อจำกัดทางร่างกาย แต่ก็ยังรับการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ เป็นของขวัญปีใหม่แด่ท่าน ททท. หวังว่าความประทับใจที่ได้รับจากภาพเขียนอันละเมียดละไมนี้จะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ ความสุขสดชื่น และความสมานฉันท์ตลอดไป
และต้องขอขอบคุณคำนำและคำบรรยาย โดย คุณวนิดา  สถิตานนท์ นักเขียน นักประพันธ์ และอดีตบุคลากรคุณภาพของ ททท.